รีพอร์ทจากงานวิจัยเรื่อง ‘แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมปี 2565-2567 อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม’ ของวิจัยกรุงศรี ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ในปี 2563 ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยมีขนาดการผลิตคิดเป็น 21% ของปริมาณการผลิตเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทย และถ้าว่ากันถึงในแง่มูลค่า ถือว่ามีมูลค่าถึง 473,000 ล้านบาท คิดเป็น 64% ของมูลค่าตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตมากอย่างน่าจับตา และมีนักลงทุนรายใหม่ต้องการเข้ามาแบ่งเค็กก่อนนี้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็ติดที่กฎหมายและระเบียบทางราชการที่ตั้งกำแพงเอาไว้มากมาย ทำให้เป็นเรื่องยากมากสำหรับนักลงทุนรายใหม่ โดยเฉพาะรายย่อยที่เป็นคนตัวเล็กต้วน้อย พูดง่าย ๆ คือ กำลังเงินและบารมีสู้ไม่ไหว จนกระทั่งเกิดกระแสเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ จนนำไปสู่ ร่างพ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ก่อนที่จะถูกรัฐบาลประยุทธ์ชิงตัดหน้าด้วยการที่ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุราฉบับใหม่ เปิดทางเบียร์เสรี ปลดล็อกจำนวนทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตขั้นต่ำทั้งหมด เพื่อผ่อนปรนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อไม่นานมานี้
และเมื่ออ้างอิงจากดาต้าของ Euromonitor ซึ่งระบุว่า ในปี 2563 ตลาดเบียร์ในไทย ซึ่งรวมถึงแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศด้วย มีมูลค่าประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ผู้นำตลาดคือ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ครองส่วนแบ่งตลาด 57.9% ตามมาด้วย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาด 34.3% และบริษัท ไทย เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด 4.7% หากแบ่งเป็นรายแบรนด์ ลีโอ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 44.8% รองลงมาคือ ช้าง 31.2% สิงห์ 11.2% ไฮเนเกน 3.8% และอาชา 2.4%
ส่วนตลาดการจำหน่ายสุรามีมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ผู้นำตลาดคือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ครองส่วนแบ่งอยู่ 59.5% ตามมาด้วย บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) ครองอยู่ 8.0% บริษัท รีเจนซี่ บรั่นดีไทย จำกัด ครองอยู่ 4.4% และบริษัทอื่นๆ 28.1% หากแบ่งเป็นรายแบรนด์ พบว่า สุรากลั่นชุมชน ‘รวงข้าว’ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 30.9% ตามด้วยสุรากลั่นสี ‘หงษ์ทอง’ 11.4% สุรากลั่นสี ‘เบลนด์ 285’ 11.2% สุรากลั่นสี ‘รีเจนซี่’ 3.6% สุรากลั่นสี ‘แสงโสม’ 3.0% และสุรากลั่นสี ‘แม่โขง’ 2.5%
อุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดยผู้ผลิตรายใหญ่สองราย คือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตเบียร์ยุคแรกเริ่มของไทย มีแบรนด์สำคัญคือ สิงห์ ลีโอ และ My Beer อีกราย คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาทีหลัง แต่เติบโตและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว มีแบรนด์สำคัญ คือ ช้าง อาชา และ Federbräu (เฟดเดอร์บรอย)
ส่วนแนวโน้มอนาคต ตามที่วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี 2565 ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2565-2567 จะเติบโตในอัตราต่ำ หรือพูดตรงๆ คือ จะทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากที่หดตัวลงมากในปี 2563 และในปี 2564 ก็ยังไม่ฟื้นสู่ระดับปกติ ส่วนเหตุที่การเติบโตจะยังต่ำเป็นเพราะว่า ภาครัฐยังคงควบคุมการทำตลาดและโฆษณา กำหนดโซนนิ่งห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรณรงค์/จัดกิจกรรมงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกระแสการใส่ใจสุขภาพจะเป็นปัจจัยจำกัดการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า หลังจากออกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุราฉบับใหม่แล้ว สัดส่วนของตลาดเหล้าเบียร์ในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และชาวบ้านจะได้แบ่งเค็กก้อนใหญ่นี้จากนายทุนใหญ่มากน้อยแค่ไหน